กว่าจะมาเป็นเรื่อง

 

กว่าจะมาเป็นเรื่อง  

เรื่องของเธอ เรื่องของเขา และเรื่องของเรา (Venus’s Party) 

          ที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นเรื่องนี้ อะไร หรือ ทำไม ต้องเป็นเรื่องของผู้หญิง คำตอบก็ง่ายๆทื่อๆว่า เพราะเราเป็นผู้หญิง และอยากทำเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา เพื่อนของเรา แม่ของเรา และผู้หญิงที่อยู่รอบๆตัวเรา เพราะเราคิดว่าเรารู้เห็นและเคยมีประสบการณ์จริง และเราก็จะรวมเรื่องราวต่างๆเหล่านั้นไว้ในละครเรื่องนี้ 

         จากจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำงานร่วมกับเพื่อนนักละครหญิงหลายๆคน โดยการแลกเปลี่ยนทัศนะคติเรื่องตัวตน บทบาท และความเป็นผู้หญิง โดยเน้นเรื่องภาพลักษณ์ความเป็นหญิงที่ตัวเองรู้สึก และที่แต่ละคนรู้สึกว่าถูกสังคมหรือคนอื่นๆมอง จึงกลายมาเป็นการรวมหลายสถานการณ์ของผู้หญิงหลายคน  และเป็นที่มาของชื่อเรื่อง เรื่องของเธอ เรื่องของเขา และเรื่องของเรา หรือ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Venus’s Party เพราะเรื่องราวมาจากผู้หญิงหลายคนซึ่งก็สะท้อนว่ามีบางแง่มุมก็เหมือนและเป็นเรื่องของเราเหมือนกัน ส่วนวีนัสเป็นนารีเทพของความรักและความงาม รูปภาพหรือรูปปั้นของเทพวีนัสถูกสะท้อนให้เห็นเรื่องค่านิยมความเป็นผู้หญิงในแต่ละยุคสมัย วีนัสปาร์ตี้จึงเป็นที่รวมเรื่องราวของผู้หญิงที่สนุกสนานเหมือนอยู่ในงานเลี้ยงฉลอง และในที่สุดเราผ่านกระบวนการสร้างเรื่องและการซ้อม ละครเรื่องนี้ก็เลยถูกคัดกรองให้เป็นเรื่องของผู้หญิง สามคนในสามสถานการณ์

ผู้หญิงคนแรก แสดงโดย จุ๋ม สุมณฑา สวนผลรัตน์ ซึ่งมีรูปร่างอวบสมบูรณ์เหมาะกับบทบาทในตอนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงกับตัวตนของเธอ คือเรื่องเกี่ยวกับความคิดเรื่องความสวยความงาม ในปัจจุบันเราคุ้นเคยกันดีกับเรื่อง ความสวยความงาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคอดีตก็มีคอนเซ็ปเรื่องความงามของผู้หญิงแตกต่างจากปัจจุบัน แต่ว่าในปัจจุบันนี้เรื่องของความงาม กลับกระทบกระเทือนการเป็นอยู่ของผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิง ที่ต้องเอาใจใส่กับ ความขาว ความดำ ความสวยงามของรูปร่างหน้าตา ให้ดูดีอยู่เสมอ จนบางครั้งมันกลับทำร้ายตัวเราเอง อย่างที่เราได้เห็นได้รู้จากข่าวหนังสือพิมพ์ จากข่าวโทรทัศน์ หรือจากเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักของเรา อย่างตอนหนึ่งในเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการลดน้ำหนัก นั่นก็เป็นเรื่องจริงของเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยสองคน ที่ลดน้ำหนักมากเกินจนตัวผอมโซไม่มีเรี่ยวแรง เนื่องจากไม่กินข้าว ไม่กินขนม ไม่กินน้ำหวาน อาหารทุกมื้อคือ ผักต้มเพียงอย่างเดียว เราเห็นความอยากอาหารของเพื่อน แต่เธอก็ใจแข็งไม่ยอมกิน แต่ทั้งสองคนหดหู่และไม่มีความสุข จนเวลาผ่านไปประมาณอาทิตย์กว่าๆ ทั้งสองทนไม่ไหวอีกต่อไป พวกเธอกระโจนใส่อาหารมากมายหลากหลายชนิดรวมทั้งไอติมและของหวานต่างๆนาๆ เหมือนความหิวความอยากนั้นได้ระเบิดออกมา แล้วเธอก็กินๆๆ และไม่ลดน้ำหนักแบบที่ผ่านมา  เราก็ใช้การพูดคุยกับนักแสดงแล้วก็ด้นสดฉากนี้ขึ้นมา ส่วนเรื่องของการเข้าคลินิคเสริมความงามก็เป็นเรื่องที่เราเห็นจากข่าว และมันก็น่ากลัวมากขึ้นทุกวัน ที่บรรดาสาวๆอย่างเรา กังวลเรื่องของหน้าตาสวยงามจนต้องใช้มีดหมอในการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงหน้าของตัวเอง และบางครั้งก็ให้ผลเลวร้ายมากกว่าผลดี

ผู้หญิงคนที่สอง แสดงโดยปริยา วงษ์ระเบียบ เป็นเรื่องราวของเวริ์คกิ้งวูแมน หรือผู้หญิงทำงาน ในปัจจุบันนอกจากผู้หญิงต้องสวยแล้ว เรายังมีบ่วงอันใหม่ก็คือ นิยามของความเป็นหญิงยุคใหม่ที่บอกว่า ผู้หญิงสวยต้องมีสมอง และผู้หญิงต้องสวยและต้องเก่งด้วย มันทำให้เราต้องแข่งขันกันในเรื่องงานนอกบ้าน จนบางครั้งเราเองอาจจะไม่มีความสุข หรืออาจจะต้องเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวของตัวเองให้แข็งกร้าวราวกับผู้ชายแมนๆคนหนึ่ง  สถานการณ์ที่ปรากฏในเรื่องมีทั้งส่วนที่เป็นการออกแบบท่าทาง และการด้นสดเช่นเดียวกับตอนแรก การใช้เก้าอี้เข้ามาเล่นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการแข่งขัน การยอมรับเข้าร่วมวง และหน้าที่การงาน ในช่วงการประชุม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราสมมุติขึ้น เราเลือกใช้ภาษาที่ไม่เป็นภาษาที่มีเรื่องของความเคารพการเป็นอยู่ในโลกซึ่งเป็นแบบฝึกหัดทางการละครแบบฝึกหัดหนึ่ง เราเรียกภาษาแบบนี้ว่าภาษาจิ๊บเบอริช เพื่อไม่ให้ผู้ชมติดอยู่กับเรื่องที่นักแสดงจะพูดนั้นเป็นงานอะไร เพราะนั่นไม่สำคัญเท่ากับท่าทาง และบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร อคติ และลวนลาม ฉากนี้ก็ยังคงตลกสนุกสนาน แต่มันจะไม่ขำถ้าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เหมือนในตอนท้ายที่นักแสดงหญิงถูกเบียดให้ออกนอกวง ไม้ได้รับการยอมรับ

ช่วงรอยเชื่อมต่อก่อนไปสู่ตอนต่อไป เป็นเรื่องภัยผู้หญิงที่เรารับรู้จากข่าวร้ายประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจี้ ฉก ชิง วิ่งราว หรือการข่มขืน เป็นเรื่องภัยร้ายนอกบ้านของผู้หญิง ที่มีแรงน้อยกว่าผู้ร้ายซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นผู้ชาย สถานการณ์นี้ถูกนำเสนอการตอบโต้กลับของตัวละครผู้หญิงหลายคนร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ และเอาชนะได้ในที่สุดด้วยการใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวต่อสู้ขัดขืนก็คงสู้ไม่ได้ ฉะนั้นปัญหานี้จึงยังคงมีอยู่ต่อไปเพราะเป็นเรื่องสรีระและแรง ดังนั้นฉากนี้จึงเป็นเหมือนภาพฝันของการต่อต้านอาชญากรรมที่เกิดกับผู้หญิง ซึ่งเรายังไปไม่ถึงทางออกของปัญหา  

            ผู้หญิงคนที่สาม แสดงโดย จารุนันท์ พันธชาติ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ในตอนนี้การนำเสนอไม่สนุกสนานเหมือนสองตอนที่ผ่านมา เพราะเมื่อเราต้องมาเผชิญหน้ากับความจริงใต้หลังคาบ้านตัวเอง มันอาจจะน่ากลัวกว่าการเผชิญภัยนอกบ้านเสียด้วยซ้ำไป ฉากนี้เริ่มด้วยการทำกิจวัตรประจำวันในบ้านที่ซ้ำซากจำเจของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยผู้ชมจะเห็นว่ามีเชือกเส้นโตผูกไว้รอบคอของทั้งสองคน เชือกถูกใช้แทนสายสัมพันธ์ของทั้งคู่ ที่เราเลือกใช้เชือกเพราะ ในการแต่งงานของคนไทยเราในพิธีรดน้ำสังข์ เราใช้สายสิญจน์คล้องที่ศณีษะของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เหมือนกับว่าเป็นสายคล้องคนทั้งคู่ให้อยู่และใช้ชีวิตร่วมกัน ในนิทานพระทองนางนาค ตอนแต่งงานพระทองก็ต้องจับชายผ้าสไบนางนาคลงไปใต้บาดาลเพื่อแต่งงานเช่นเดียวกัน และในงานแต่งงานของชาวอินเดีย เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวก็ถูกคล้องไว้ด้วยผ้าผืนยาวในระหว่างทำพิธีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ที่เราเลือกใช้เชือกก็เพราะให้ความหมายทางกายภาพที่ชัดเจนอีกด้วย ว่าถ้าคนทั้งคู่ไม่ดึงเชือกและเลือกมีระยะต่อกันอย่างพอเหมาะพวกเขาก็จะอยู่กันได้อย่างสบาย แต่ถ้าคนหนึ่งคนใดดึงเชือกมากเกินไปอีกคนก็ต้องตาม แต่ถ้าไม่ตามแล้วเกิดการขัดขืนต่อต้าน เมื่อนั้นการทะเลาะเบาะแว้งและการต่อสู้จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือความตาย แต่เราเลือกเลือกที่จะให้ตัวละครผู้หญิงของเรา หาทางเอาชนะและปลดเชือกที่พันธนาการเธอด้วยตัวของเธอเอง    

            ภาพตอนจบ เป็นการเคลื่อนไหวที่ให้อิมเมจของการหลับไหล การตื่นและรับรู้ถึงกรอบประตูที่อยู่รอบตัวเรา และการฉีกและการก้าวข้ามผ่านบานประตูบานนั้นไปสู่สภาวะใหม่นอกกรอบนั้น  

            ในละครเรื่องนี้เรายังมีนักแสดงชายอีกสองคนซึ่งแสดงเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ก็เป็นเพียงตัวละครรองและเป็นบทบาทผู้ร้าย เราไม่ได้ต้องการแสดงภาพผู้ชายว่าจะต้องเป็นผู้ร้ายเสียทั้งหมด เพราะในสังคมย่อมต้องมีทั้งคนร้ายและคนดี มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นคนเลวร้าย แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะในเรื่องนี้เราได้เลือกสถานการณ์ที่เป็นภัยร้ายที่กระทบกับชีวิตผู้หญิง เราจึงจำเป็นต้องเลือกสถาณการณ์ที่ร้ายกาจรุนแรงมานำเสนอเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพที่ชัดเจน เราได้พูดคุยกับนักแสดงโดยเฉพาะนักแสดงชายในเรื่องแล้วว่า เราจะทำละครเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องของภาพลักษณ์ของผู้หญิง ดังนั้นบทบาทของผู้ชายในเรื่องย่อมต้องเป็นตัวรอง และในบางครั้งต้องเป็นผู้ร้ายด้วย ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจและสนใจเหมือนกับเรา นักแสดงทั้งหมดจึงร่วมกันทำงานช่วยกันค้นหาจากความคิดของผู้กำกับและจากความคิดของพวกเขาเองด้วย เป็นการช่วยกันคิดช่วยกันหา ช่วยกันพูดคุยวิภาควิจารณ์ และช่วยกันสร้างชิ้นงานไปด้วยกัน เพราะเราอยากให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวเราและอยู่กับมันอย่างรู้ตัว