ผู้หญิงที่อยู่ในใจ

ผู้หญิงที่กำลังอยู่ในใจตอนนี้ เป็นผู้หญิงสองคนจากคนละซีกโลก คนแรกคือ Nawal El Saadawi ชาวอียิปต์ผู้เขียน The Daughter of Isis กับอีกคน Arundhati Roy ชาวอินเดียผู้เขียน The God of Small Things ชอบหนังสือของเธอทั้งสอง 
 
  
 
เรื่องแรกเป็นอัตชีวประวัติเป็นเรื่องจริงของผู้เขียน ส่วนเล่มที่สองเป็นเรื่องแต่งที่ดูเหมือนว่าน่าจะมาจากเรื่องจริง บางแง่มุมมีความเหมือนกันในความไม่เหมือนกันจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงทุกสังคม คือ ความไม่เป็นธรรม ผ่านสายตาของผู้เขียนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆที่สะท้อนถึงเรื่องของสังคม และความสัมพันธ์ของผู้คน สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจคือสำนึกทางสังคมของผู้เขียน ความเจ็บปวด ความรันทดรันทดแต่งดงามและมีพลัง  
 
 ลูกสาวไอซิส ในชื่อภาษาไทย เป็นเรื่องราวของผู้เขียนตั้งแต่วัยเด็กจนกลายเป็นคุณหมอนักกิจกรรมทางสังคม ผู้เรียกร้องสิทธิเพื่อสตรีชาวอียิปต์ ผ่านการต่อสู้ทั้งระดับบุคคลและในระดับสังคม แต่น้ำเสียงและลีลาในการเล่าผ่านสายตาของเด็กหญิงในช่วสงแรก และเป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตที่บางครั้งแม้จะมาจากเรื่องจริง แต่การเล่าใช้วิธีการวาดภาพเหนือจริงแทรกอยู่จนทำให้ความเข้มข้นและความเจ็บปวดที่มีความงามด้วยจินตนาการและพลังที่เข้มแข็ง
 
 
 
ส่วนเทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องครอบครัวหนึ่ง ที่มีทั้งเรื่องของเด็ก เรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องครอบครัว เรื่องชนชั้น เรื่องสังคม ความอยุติธรรม ความรัก และความเป็นคน เป็นการเล่าเรื่องที่ดูเหมือนจริงผ่านการขยายภาพและความรู้สึกด้วยจินตนาการ จนทำให้รู้สึกถึงความเป็นจริงในความรู้สึก เมื่ออ่านจบแล้วเรารับรู้ได้ถึงความเล็กจ้อยของตัวเรา และรู้สึกถึงความเจ็บปวดของการเป็นคนเล็กๆในสังคม  
 
 

ครึ่งปีแล้ว ทำอะไรลงไปบ้าง

งานแรกของปี ละครเวที “ล่าท้าฝัน” กำกับและดัดแปลงบทให้กับ ม.ศิลปากร ict นักแสดงเป็นนักเรียนการแสดงรุ่นแรกของเราเอง เรื่องนี้แปลและดัดแปลงจากละครสมัยใหม่ของเยอรมัน เรื่อง Creeps ของ Lutz Hubner โดย ปานรัตน กริชชาญชัยร่วมแปล แสดงไปเมื่อเดือนมกราคม
 
  
 
งานต่อมา โครงการอ่านบทละคร “อ่านผู้หญิง” มาอีกแล้วกับการแสดงอ่านบทละคร คราวนี้ชวนเฉพาะนักการละครหญิงสิบคน เลือกวรรณกรรมที่รักเกี่ยวกับผู้หญิงมาอ่านกันในเดือนมีนาคมเดือนของผู้หญิง งานทุกชิ้นในครั้งนี้น่าสนใจด้วยตัวของมันเอง และสะท้อนความเป็นตัวเป็นตนของคนทำชิ้นงานนั้น มีผู้ชมที่เป็นแฟนของงานอ่าน บอกว่าครั้งนี้ดูสงบๆเนือยลง ไม่เหมือนครั้งก่อนมา ในส่วนตัวกลับเห็นว่านี่คือความแตกต่าง และความโดดเด่นในการพูดเรื่องประเด็นผู้หญิงโดยผู้หญิง ที่ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่มีน้ำเสียงที่แตกต่าง และไม่ติดกับกับความน่าจะเป็น 
 
  
 
ในงานนนี้ตัวเองนำเสนองานชิ้นหนึ่ง เลือกเรื่องสั้นของนักเขียนเฟมินิสต์รุ่นแรกๆเรื่อง “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง”  The Yellow Wallpaper เขียนโดย ชาร์ลอตต์ เพอร์กิ้น กิลแมน  แปลโดยคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งเคยอ่านเมื่อนานมากมาแล้วและยังคงอยู่ในใจเสมอมา เป็นเรื่องเล่าผ่านกระแสสำนึกของหญิงวิกลจริตคนหนึ่งที่ถูกรักและถูกรักษาในทางที่ไม่เหมาะสมกับเธอ
 
เมษายนเดือนแห่งการเรียนรู้ เรามาชวนสมาชิกเก่าและน้องนักศึกษาที่มาฝึกงานกลับเข้าห้องเรียนละคร การแสดง และเปิดอบรมออกแบบแสง ปรับปรุงละครโรงเล็ก เตรียมละครใหญ่ของเราในปีนี้คือ  “คือผู้อภิวัฒน์” หลังจากนั้นเราซ้อมกันสามเดือนโดยไม่รับงานอย่างอื่นยกเว้นงานสอนและงานอบรมละคร เราทำงานกันอย่างหนักท่ามกลางความปั่นป่วนความบาดหมางและความหวาดระแวงกับสถานการณ์บ้านเมือง
 
ปลายเดือนมิถุนายนต่อต้นเดือนกรกฎาคม แสดงละครเวที “คือผู้อภิวัฒน์” ละครที่เป็นเหมือนโลโก้ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร สิบปีก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้กลับมาในวาระครบรอบ 110 ปี อ.ปรีดี พนมยงค์ จากที่เคยดู เคยแสดง มาครั้งนี้เป็นผู้กำกับ และผลออกมาเป็นที่น่าภาคภูมิใจกับสารสาระกระบวนการการทำงานปฏิสัมพันธ์ของคนงานและเสียงตอบรับที่ราได้รับ ตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ 
http://crescentmoontheatre.blogspot.com/2010/07/blog-post.html
 
เดือนหน้าสิงหาคม พระจันทร์เสี้ยวการละครเตรียมตัวทัวร์ “คือผู้อภิวัฒน์” อีกห้ารอบ
 

หายไปนาน

จากเมษาถึงกรกฎาหายไปนานกับการมีสติสมาธิอยู่กับละครคือผู้อภิวัฒน์ เผลอไปแป๊บนึงก็แสดงเสร็จไปแล้ว มีอะไรหลายอย่างที่อยากเขียนถึง แต่ยังไม่เปิดเผย จะพยายามขุดมันออกมา