แสลง

 
 
รักครั้งนี้….แสลง กับความในใจของผู้กำกับและคนเขียนเรื่อง
 
มีคนถามกันมาหลายคนว่าทำไม ชื่อ แสลง บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่า สะ-แลง ที่เป็นคำภาษาอังกฤษ Slang ที่แปลว่า คำหรือภาษาพูดแบบไม่ถูกต้อง ภาษาพูด ภาษาเพื่อนสนิท หรือ คำพูดแบบตลาดๆ แต่ “แสลง” ชื่อเรื่องเรื่องนี้ คำคำนี้เป็นคำไทย แบบบ้านๆ อ่านออกเสียงว่า สะ-แหลง
 
แสลง ตามพจนานุกรมราชบัณพิตยสถาน แปลว่า ไม่ถูกกับโรค เช่น แสลงโรค, ขัด เช่น แสลงหู แสลงตา  (เป็นคำวิเศษณ์ หรือ เป็นคำคุณศัพท์)
 
เพิ่มเติมว่า เช่น แสลง เมื่ออกหักก็ไม่อยากนึกถึงเขา แสลงหู ไม่อยากฟังเรื่องเขาหรือพูดภึงเรื่องของเขา แสลงตา ไม่อยากเห็นหน้าเขาไปกับคนอื่น หรือ อย่างในเพลงลูกทุ่งที่ว่า “….เห็นโบว์แดงแสลงในใจ…….”
เหมือนกับสถานการณ์ที่ตัวละครในเรื่องกำลังประสบอยู่  เรื่องในใจเรา หรือ เรื่องในบ้านของเรา บางครั้งมันก็แสลง จนไม่อยากจะบอกใครได้ เช่น ตัวละคร “ป้า” หรือผู้หญิงคนนั้น ที่หวานอมขมกลืน เก็บความทุกข์ไว้ในใจ เนื่องเพราะ ความเชื่อที่ถูกสอนมาว่า เรื่องของผัวเมียต้องอดทน เรื่องในบ้าน “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า” ผู้หญิงบางคนจึงต้องทนเจ็บตัวปางตาย ก่อนจะบอกคนอื่นหรือแม้แต่บอกหมอ
 
นอกจากนี้ เรื่องส่วนตัวของผู้กำกับแอบดับเบ็ลมีนนิ่งกับชื่อเรื่องนี้ไว้ด้วย จากเหตุการณ์จริงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพิ่งเรียนจบ สาขาวรรณคดี จาก ม.ช. สนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องราวของผู้หญิงและไฟแรงมากอยากทำละคร ก็เลยไปฝึกงานกับคณะละครใหญ่คณะหนึ่ง แล้วคุยกับรุ่นพี่ของคณะนั้นว่าอยากจะทำ ละครเกี่ยวกับประเด็นผู้หญิง รุ่นพี่คนนั้นได้ฟัง ก็บอกออกมาเสียงดังฟังชัดว่า “ใครวะจะมาดูงานมึง”  เลยทำให้น้องใหม่อย่างเราจ๋อยสนิท ต้องพับเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ แล้วแอบทำ แอบตีความเข้าข้างตัวละครผู้หญิง ซึ่งบางครั้งกับบางเรื่องก็ไม่เข้าท่า
 
เวลาผ่านมาอีกนานจนถึงวันนี้ พอพูดเรื่องละครผู้หญิง หรือ ประเด็น ผู้หญิง ผู้คนก็พากันหวาดกลัว แล้วนึกถึงคำว่า เฟมินิสต์ ขึ้นมาแทนที่ในทันที นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องที่ชวนฉงนที่ชื่อ “แสลง” ที่แอบมีคำพ่วงท้ายตามาว่า แสลง รักขม ระทมทุกข์ 
 
ชื่อเรื่อง
แสลง (Bitter Love)
 
ความยาว
50 นาที
 
เรื่องย่อ
เรื่องอกหัก รักขม ระทมทุกข์ ของคนแปลกหน้าสองคนที่กำลังเสียความรู้สึก เมื่อประสบเหตุ “เขาไม่รักเรา” ความผิดหวัง โศกเศร้า และเสียself กับห้วงเวลาที่จะต้องเยียวยารักษาหัวใจให้ผ่านคืนวันนี้ไปโดยไม่ทำร้ายตัวเอง 
นำแสดงโดย
เกรียงไกร ฟูเกษม และ แม่จำปา แสนพรม
แสดงตรั้งแรก
26-27 พฤษภาคม 2550
ใน ผู้หญิงในดวงจันทร์: เทศกาลของนักเขียนบทและผู้กำกับละครเวทีหญิง @ Crescent Moon Space
โปรดติดตามครั้งต่อไป
ปลายเดือนกันยายน 2550 นี้  @ Crescent Moon Space
 
 
 

The Edge

 

The Edge

เริ่มต้นการเดินทางสู่ชายขอบ ด้วยบทกลอนและเรื่องราวของเด็กหญิงสีขาวที่สร้างด้วยเกลือ เธออยากรู้จักตัวเองว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน เธอจึงออกเดินทาง สู่โลกกว้างและพบผู้คนหลากหลายที่สอนและให้ประสบการณ์แก่เธอมากมาย ทั้งร้ายและดี จนในที่สุดเธอก็เดินทางมาถึงขอบโลกที่ที่ผืนดินติดกับผืนน้ำ เธอเดินลงไปในน้ำทีละนิดทีละนิดแล้วจึงระลึกได้ว่านี่คือที่ที่เธอเกิด ในที่สุดเธอก็ละลายทีละน้อยทีละน้อยแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของสายน้ำนั้น

COME TO THE EDGE.”
“No, we will fall.”
“COME TO THE EDGE.”
“No, we will fall.”
They came to the edge.
He pushed them, and they flew.

-Guillaume Apollinaire-

Foot Note:
จากนิทานเรื่องหนึ่ง ก่อนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่อง ชายขอบหรือ The Edge  เมื่อปี 2545 แสดงมนเทศกาลละครอุดมคติ ที่หอศิลป์ตาดู แล้วพัฒนาต่อมาเป็น The Edge ; The Lost Girl ในปี 2549 แสดงในงานเทศกาล M1 Singapore Fringe Festival 2006 ที่โรงละคร Theatre Studio ใน Esplanade

 

Small but Beautiful

 
Small but Beautiful
 
ละครโรงเล็ก @ Crescent Moon Space ที่เล็กๆที่ว่านี้อยู่ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ชั้น 1 ด้านหลังแท่นหินสีดำ ตรงลานน้ำพุ แต่เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องสำนักงานของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งได้การสนับสนุนให้ใช้พื้นที่นี้จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เราใช้เป็นห้องทำงาน ที่ซ้อม ที่ประชุม ที่จัดทำอุปกรณ์ และเป็นที่สุมหัวทำงานละครและงานศิลปะอื่นๆที่เราสนใจ
 
ขนาดห้อง 5.90 เมตร x 7.70 เมตร จำนวนผู้ชมประมาณ 30-38 ที่นั่ง เราตั้งใจให้เป็นแบบแบ็ลคบ๊อกซ์ แต่อาจเป็นบ๊อกซ์ที่เล็กสักหน่อยก็เลยเหมาะสำหรับการแสดงขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์และฉากน้อย แต่ข้อดีก็คือนักแสดงกับผู้ชมนั้นอยู่ในระยะใกล้ชิด
 
ละครเวที เป็นสาขาหนึ่งของงานศิลปะที่มีคนพูดว่า “เป็นลูกเมียน้อย” มีคนดูน้อย หน่วยงานต่างๆให้ความสำคัญกับละครน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี สปอนเซอร์ที่หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ก็กลับยากขึ้นอีกมาก เราสร้างโปรดักชั่นใหญ่ได้แค่ปีละเรื่องสองเท่านั้น เราขาดทั้งพื้นที่แสดงงาน แล้วก็ขาดความต่อเนื่องในการแสดงงาน ความหวังลึกๆของคนทำละครก็อยากจะมีโรงละครดีๆ(ซึ่งไม่จำเป็นต้องขนาดใหญ่)ไว้เป็นที่ทำงาน คิดงาน สร้างงาน และที่แสดงงาน เราจะหาจากที่ไหน เคยถาม เคยหา เคยพูดกันในที่ประชุมใหญ่ๆ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่เราต้องอยู่ ต้องมีงาน คนทำงานจึงรอไม่ได้
 
ที่เราทำได้คือ เราต้องปรับตัว หาที่เล็กๆที่เราจะทำให้มันเป็นจริงได้เท่านั้น เพราะการมีพื้นที่ของเราเอง มันจะเป็นจุดศูนย์กลางให้คนเข้ามาหาเรา  คนที่เข้ามาหานี้ก็รวมทั้งคนที่อยากทำงานกับเรา อยากฝึกกับเรา เพื่อนคนละคร และผู้ชม การมีโรงละครของเราเองทำให้เรามีอโอกาสจัดแสดงได้ต่อเนื่องมากขึ้น เปิดอบรมละครได้ น้องๆสมาชิกรุ่นใหม่ก็ได้ใช้เป้นที่ฝึกฝนและได้แสดง เมื่อเราทำเวริ์คชอปเราก็จะได้มีโชว์เคสดีๆเปิดให้คนเข้ามาดู มาแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องละครได้
 
อย่างที่คนเค้าพูดไว้ว่า “ที่เล็กๆก็คงเหมาะกับมดตัวเล็กๆที่ไม่หยุดเดิน”
 
 
 
 
 

Women in the Moon

ผู้หญิงในดวงจันทร์ : เทศกาลนักเขียนบทและผู้กำกับละครเวทีหญิง
7 -27 พฤษภาคม 2550 @ CrescentMoonSpace

(จากการสัมภาษณ์โดย อ.ปวิตร เพื่อลงหนังสือพิมพ์ แต่ลงได้ไม่หมด เลยเอามาลงไว้ที่นี่)

– ช่วยเล่าถึงที่มาของเทศกาล ผู้หญิงในดวงจันทร์หน่อยครับ  ดูเหมื่อนว่าที่จริง คนทำละครเวทีบ้านเรา ผู้หญิงก็มากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว (หรือผมรู้สึกไปเอง) แล้วทำไมถึงใช้ชื่อนี้ และช่วยเล่าภาพรวมของ Mekong Creative Communities Arts for Advocacy Fellowship 2007 ด้วยครับ ว่านอกจาก ผู้หญิงในดวงจันทร์ แล้ว มีอะไรอีก

นาดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงและตัวละครผู้หญิงอยู่แล้ว คือตั้งแต่สมัยเรียนวรรณคดี จากมหาวิทยลัยเชียงใหม่ก็เรียนเรื่องTheme ผู้หญิงจากงานวรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร ตะวันตก และก็เลยชอบอ่านเรื่องสั้นไทย นวนิยายไทยด้วย และเพราะเราเป็นผู้หญิงเราใกล้ชิดกับเรื่องเหล่านี้ดี ตอนเรียนก็ทำ Thesis วรรณกรรมบทละคร คือทำละครเรื่อง Rites ของ Maureen Duffy

นาดเองได้รับโอกาสดีๆ ได้เข้าร่วมประชุม ได้เข้าร่วมเทศกาลละครผู้หญิงมาสี่ห้าครั้ง
The Second Conference of Asian Women and Theatre 2000 ที่ฟิลิปปินส์
Poorva Women Director’s Festival 2003 ที่อินเดีย
Asia-Pacific Festival Conference of Women in the Arts 2003 ที่ฟิลิปปินส์
Magdalena Project 2006 ที่สิงคโปร์
PETA Mekong Performing Arts Laboratory 2006 ที่เวียดนาม)

จากการร่วมงานต่างๆนี้มันทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ เห็นอะไรใหม่ๆ ได้คิดอะไรกว้างขึ้น ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างที่ให้แง่คิดสอนเรามากมาย ได้รู้ถึงประสบการณ์ที่แย่จากเรื่องของผู้หญิงที่ประสบปัญหาแต่เรื่องเหล่านั้นสอนเราให้เรียนรู้มากขึ้น ตระหนักมากขึ้น ที่สำคัญเรารู้สึกอบอุ่นและได้พลังจากเทศกาลละครผู้หญิงมาก เรายังมีเพื่อนที่พูดและสนใจในเรื่องเดียวกัน เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ได้แรงบันดาลใจ ได้แลกเปลี่ยน พูดคุย เรื่องตัวละครผู้หญิง ซึ่งสะท้อนสภาพหรือค่านิยมของคนสังคม เราได้รับรู้เรื่องราวของผู้หญิงมากมาย ในหลายๆประเทศยังคงมีผู้หญิงที่ถูกกระทำ ด้วยทางร่างกาย จิตใจ หรือค่านิยมของสังคมอยู่อีกมาก อย่างที่เรานึกไม่ถึง มันทำให้เราได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

นาด (สินีนาฏ เกษประไพ – artistic Director ของานผู้หญิงในดวงจันทร์) กับจา (จารุนันท์ พันธชาติ – Festival Director ของงาน “ผู้หญิงในดวงจันทร์”) ก็คุยกันและเราทำเทศกาลเล็กๆเกี่ยวกับละครที่พูดเรื่องราวของผู้หญิงมานานแล้ว เพราะเราก็อยากให้อะไรดีๆแบบที่เราก็เคยได้รับมา เคยขอทุนจะทำตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน แต่ก็หาทุนไม่ได้จึงพับเก็บไว้

ปีนี้เราได้รับทุนจากโครงการ Mekong Creative Communities Arts for advocacy Fellowship 2007 : Philippine Educational Theatre Association (PETA) สนับสนุนโดย มูลนิธิ The Rockefeller Foundation เราจึงมีโอกาสได้ทำ  เราก็เลยอยากให้งานนี้เป็นเทศกาลสำหรับคนทำงานละครที่เป็นผู้หญิงเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุย (แต่ไม่ได้แยกหรือปิดกั้นไม่มีศิลปินผู้ชายเข้าร่วม ไม่ใช่นะคะ เชิญชวนมาร่วมพูดคุย มาสะท้อนมุมมองในการดูงานของผู้กำกับหญิง) งานนี้จะเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน รวมทั้งแสดงงาน และพูดคุยกันในเรื่องการสร้างเรื่อง การหาแรงบันดาลใจ สุนทรียศาสตร์ในงานละคร ซึ่งผู้ชมก็จะได้ดูงานละครใหม่ 4 เรื่องในเทศกาลนี้

ถึงแม้เทศกาลนี้จัดในพื้นที่เล็กๆ (จำนวนผู้ชม 30 ที่นั่ง) แต่เราหวังว่ามันจะเป็นก้าวเล็กแต่เป็นก้าวที่เริ่มต้น เราทำงานทุกด้าน มีอบรมละคร เสวนา แสดงละคร พูดคุยแลกเปลี่ยนหลังละคร มีตลาดเล็กๆแลกเปลี่ยนข้าวของมือสอง   คือ เราย่อขนาดเทศกาลใหญ่ๆมันลงมา เพื่อทำให้มันเป็นจริงให้ได้ในงบประมาณที่เรามีจำกัด แต่มันจะไม่จำกัดความคิด ประสบการณ์กับความรู้ที่เราจะได้ เพื่อจะได้นำไปขยายผลได้ในอนาคต ใครจะรู้มันอาจจะค่อยๆเติบโตขึ้นก็เป็นไปได้

ทำไมเป็นผู้หญิงในดวงจันทร์ เรามักจะเปรียบว่าพระจันทร์เป็นผู้หญิง พระอาทิตย์เป็นผู้ชาย แล้วพระจันทร์ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของนักฝัน เทศกาลของเราก็พูดถึงการนึกฝันการเล่าเรื่องราวของผู้หญิง และบังเอิญว่ามาพ้องกับพระจันทร์เสี้ยวการละครด้วย มันฟังดูสบายๆ ไม่วิชาการเพราะตัวเราไม่ใช่นักวิชาการ แต่เราก็สนใจอ่านงานวิชาการมาเป็นข้อมูลแล้วนำประยุกต์ใช้ ฉะนั้นงานนี้เรามุ่งเน้นในมุมมองของศิลปะจากนักทำละคร และไม่ใช่สถาบัน  เราต้องการเป็นทางเลือก (ไม่ใช่ทางหลักหรือกระแสหลัก) เป็นที่ที่เหมาะกับคนที่มีความสนใจที่คล้ายๆกันมาเจอกัน ในที่สบายๆเราก็คงอยากพูดอะไรมากขึ้น แล้วน่าจะได้ยินได้ฟังมากขึ้น  

ในแง่ที่ว่านักการละครบ้านเรามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ใช่ค่ะ นาดเห็นด้วย แต่เรื่องราวของผู้หญิงและตัวละครผู้หญิงนั้นยังมีน้อย และเราสนใจเรื่องราวของผู้หญิงที่หลากหลายน่าจะมีมากขึ้น ซึ่งมันสะท้อนบทบาทของผู้หญิงและความเป็นไปของคนในสังคมเรา 
 
– ในฐานะ ผู้กำกับและผู้เขียนบท นาดมองบทบาทของผู้หญิงในวงการละครเวทีไทยว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ แล้วผู้หญิงไทยได้ใช้ประโยชน์จากละครเวทีในการเสนอปัญหาของผู้หญิงต่อสังคมมากน้อยเพียงไรครับ

นักการละครไทยเป็นผู้หญิงเยอะและเป็นผู้หญิงเก่ง เป็นต้นแบบที่ดีแก่นักการละครรุ่นใหม่ๆ เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางให้เราได้ก้าวเดินต่อ เช่น อ.สดใส พันธุโกมล อ.มัทนี โมชดารา รัตนิน และรุ่นครูๆของนาดอีกหลายท่าน นักการละครผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก เรามีผู้กำกับและนักเขียนบทละครเกี่ยวกับผู้หญิงรุ่นครู เช่น อ.รัศมี เผ่าเหลืองทอง, อ.พรรัตน์ ดำรุง, อ.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ และรุ่นพี่ๆรุ่นใหญ่ก็อีกหลายท่าน
 
คราวนี้เราหันมาดูนักทำละครทางเลือกในขณะนี้ คือพวกรุ่นกลางๆ รุ่นใหม่ จนถึงรุ่นน้องนักศึกษาเป็นผู้หญิงมาก แต่เรามีบทหรือตัวละครที่สะท้อนเรื่องราวของผู้หญิงสักแค่ไหน ก็มีค่ะแต่ไม่มาก บ้านเรามีกลุ่มละครหลายกลุ่มที่ทำทำละครรณรงค์ในประเด็นผู้หญิงในที่ต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว มีละครรณรงค์หลายเรื่องและช่วยรณรงค์ประเด็นต่างๆได้มาก แต่มันก็น่าจะมีละครที่เปิดแสดงในโรงละครที่พูดหรือสะท้อนภาพผู้หญิงในหลายๆด้าน หลากหลายให้มาก เพื่อสะท้อนปัญหาของผู้หญิง และ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้หญิงเอง หรือค่านิยมบางอย่างของสังคม อย่างน้อยเราอยากเห็นตัวละครผู้หญิงที่หลากหลายมากขึ้น

ส่วนตัวนาดเองอยากเห็นตัวละครผู้หญิงที่มิตรต่อกัน มากกว่าจะเป็นนางเองกับนางร้าย ผู้หญิงมีได้มากกว่าผู้หญิงดี – ผู้หญิงเลว แต่ละเรื่องราวมันมีที่มาที่ไป มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เกิด ผู้ชมทั้งชายและหญิงก็จะเห็นภาพจำลองที่มันร่วมสมัย จะนำมาซึ่งความเข้าใจในความต่างกันในบางแง่มุม เข้าใจ”ใจเขาใจเรา”ผ่านตัวละคร 

– รบกวน ขอเรื่องย่อๆของละครเวที 4 เรื่องในเทศกาลนี้ด้วยครับ

ละคร 4 เรื่องในเทศกาลผู้หญิงในดวงจันทร์

เสาร์ – อาทิตย์ ที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2550
ละครเรื่อง ยามพลบ 2
กำกับโดย จารุนันท์ พันธชาติ  กลุ่มละคร B-Floor Theatre
“เรื่องดีๆ ในเวลาดีๆ ที่มีแค่คุณกับเพื่อนที่ดี ในช่วงเวลายามเย็นอันเรียบเรื่อยที่สุดแสนจะธรรมดา การพบปะและบทสนทนาอันสุดแสนธรรมดาของสามสาวเพื่อนสนิท  กลับเปิดเผยความไม่ธรรมดาของชีวิต”
ละครเรื่อง Vagina Monologues
กำกับโดย พันพัสสา ธูปเธียน
“คุณเคยสงสัยไหมว่า ถ้า Vagina พูดได้เธอจะพูด/อ้อน/บ่น/ด่า/ปรับทุกข์หรือมีอารมณ์ขันอย่างไรบ้างเชิญมารับชมรับฟัง The Vagina Monologue ตัวจริงเสียงจริงภาคภาษาไทยเพื่อคนไทยแล้วคุณจะรักและเข้าใจใน Vagina ของคุณหรือของคนข้างเคียงมากยิ่งขึ้น"

เสาร์-อาทิตย์ ที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2550
ละครเรื่อง โสมเกาหลี
กำกับโดย ฟารีดา จิราพันธ์ และ อุษาวดี สุนทรเกตุ กลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์
“ผู้หญิงตัวคนเดียวคนหนึ่งตัดสินใจทิ้งปัญหาชีวิต มาตั้งหลักที่อพาร์ทเม้นท์ ห้อง 911 แต่เพราะความเหงาเธอจึงโพสต์หาเพื่อนร่วมห้องทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเธอคนนั้นมาถึง เรื่องราวความแตกต่างระหว่างกันจึงเริ่มต้น ทั้งคู่จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันหรือมีทางเลือกอื่นสำหรับเธอทั้งสอง ณ ห้อง 911”
ละครเรื่อง แสลง
กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร
“เรื่องอกหัก รักขม ระทมทุกข์ ของคนแปลกหน้าสองคนที่กำลังเสียความรู้สึก เมื่อประสบเหตุ “เขาไม่รักเรา” ความผิดหวัง โศกเศร้า และเสียself กับห้วงเวลาที่จะต้องเยียวยารักษาหัวใจให้ผ่านคืนวันนี้ไปโดยไม่ทำร้ายตัวเอง” 

– แล้วทำไมนาดถึงเลือก 4 เรื่องนี้มาร่วมโครงการครับ

เราเลือกซึ่งกันและกันค่ะ ผู้กำกับอีก 2 เรื่องก็เลือกเราเช่นกัน (จึงได้ทำเรื่องใหม่มาแสดงในเทศกาลนี้ คือสองเรื่องจากผู้จัด คือจากนาด กับจา อีกสองเรื่อง จาก อ.หนิง พันพัสสา และ จากกลุ่มบางเพลย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ในแง่การจัดการแล้วเรามีงบประมาณจำกัดมาก ฉะนั้นคนทำงานทุกคนทำด้วยใจค่ะ) และเป็นเพราะเรามีความสนใจในเรื่องเดียวกัน คือละคร กับเรื่องราวของผู้หญิง แต่อาจเลือกเรื่อง เลือกประเด็นที่ต่างกัน นำเสนอไม่เหมือนกัน ต่างคนก็มีวิธีคิดวิธีการสร้างงานไม่เหมือนกัน

อ.หนิง พันพัสสา เป็นผู้กำกับที่น่าสนใจ ด้วยวิธีการคิด การตีความ การดัดแปลงบท และการกำกับการแสดงที่มีแนวทางชัดเจน เรื่องที่นำเสนอคือ Vagina Monologue แบบฉบับออริจินัล ซึ่งน่าสนใจด้วยวิธีการเล่าเรื่องต้องอาศัยนักแสดงที่มีฝีมือ เพราะเรื่องนี้ลงลึกถึงเรื่องภายในตัวและในใจของผู้หญิง ซึ่งทั้งนักแสดงและผู้ชมต้องศัยการเปิดใจกว้างที่จะรับรู้รับฟัง 

ฟารีดา และ อุษาวดี จากกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานอบรมและทำละครเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องเรื่องเพศศึกษาและสุขอนามัยกับองค์กรเอ็นจีโอ เขามีประสบการณ์ออกค่ายกิจกรรมมาก มีความรู้เรื่องข้อมูลแต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสทำละครในโรงละครมากนัก จึงเป็นการชักชวนและกระตุ้นกันและกันให้พัฒนาทำบทใหม่ๆขึ้นมาแสดง 

จารุนันท์ เรื่อง ยามพลบ 2 (ก็จะแตกต่างจากเวอรืชั่นแรก) ละครเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชม จากที่เคยแสดงผ่านๆมา แล้วก็เป็นเรื่องของผู้หญิงสมัยใหม่ที่ภายใต้ความสวยงามชวนมองก็ยังมีเรื่องหมองๆที่ต้องฝังกลบเอาไว้

สำหรับของนาดนั้น เรื่องแสลง จากการไปอบรมที่แม่โขงแลปเมื่อปีที่แล้ว (Mekong Performing Arts Laboratory 2006 ที่ฮานอย เวียดนาม) มีกิจกรรมอบรมหลายอย่าง รวมทั้งการเขียนบท และกิจกรรมศิลปะที่สะกิดให้เราคิดถึงเรื่องที่มันฝังอยู่ในใจเรา แล้วมันทำให้เรารู้ว่าเรื่องและความรู้สึกนั้นมันยังไม่ไปไหน มันยังอยู่กับเรา ดังนั้นเราจึงอยากเอามันออกมา (นาดเองทำงานไม่จำกัดสไตล์น่ะค่ะ) บางเรื่องบางประเด็นเราก็ต้องพูด เพราะมันซับซ้อนอ่อนไหว ก็เลยต้องพูดผ่านตัวละคร

"เมื่อฟังเสียงของเธอคนอื่น ฉันกลับได้ยินเสียงตัวเอง
เมื่อมองดูพี่สาวน้องสาวทั้งหลาย ฉันกลับเห็นตัวเอง
เราแบ่งปันเรื่องเล่า จังหวะชีวิต และท่วงทำนอง
เราเติมความฝัน จิตวิญญาณ
และความหวังให้แก่กันและกัน"

"Listening to others, I hear myself
Seeing my sister, I recognize who I am.
We share our dreams, our spirits, our hopes."

(คัดมาจาก Re-imag[in]ing the world เขียนโดย Glecy C.Atienza)