ละครสองเรื่อง-สองรส ในคอนเสริ์ต “คำขานรับ”

 
“เสียงกระซิบจากแม่น้ำ” และ “ปีศาจ”
: ละครสองเรื่อง-สองรสของพระจันทร์เสี้ยวในคอนเสริ์ต “คำขานรับ” มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ “ฉันรักประชาชน” 
พระจันทร์เสี้ยวการละครขานรับ “คำขานรับ” ซึ่งจะเป็นคอนเสริ์ตที่รวมใจรวมกำลังของ 9 คนดนตรี 6 ละครเวที 5 กวีซีไรต์ และ 3 พจานาลัย   พระจันทร์เสี้ยวการละครได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมด้วยการนำการแสดงสองชิ้น คือ “เสียงกระซิบจากแม่น้ำ” และ “ปีศาจ” บทประพันธ์ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์  เราหวังว่าละครทั้งสองเรื่องจะช่วยให้ภาพการเคลื่อนไหวที่สะท้อนบางช่วงชีวิตของการทำงานที่อุทิศเพื่อประชาชนของพี่มดซึ่งมีมากมาย
 
“เสียงกระซิบจากแม่น้ำ” เป็นการแสดงโดยการใช้การเคลื่อนไหวร่างกายบอกเล่าเรื่องราวของคนกับสายน้ำที่ไหลเชื่อมร้อยเป็นหนึ่งเดียว สายน้ำหล่อเลี้ยงผู้คน จนถึงวันหนึ่งที่ความเจริญและการพัฒนาเริ่มทำให้คนเปลี่ยนแปลงสายน้ำ เก็บ กัก กั้น สร้างเขื่อน ทำให้เกิดดารเปลี่ยนแปลงทั้งธรรมชาติและมนุษย์  
 

ละครเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการนิทานสายน้ำ The River Project ของภาควิชาการละคร มหาวิทยาลัยไมอามิ รัฐโอไฮโอ ซึ่งกำหนดทิศทางทางโดย ครูคำรณ คุณะดิลก ครั้งนั้นเป็นการทำงานร่วมกับนักศึกษาที่นั่น โดยมี นาด สินีนาฏ เกษประไพ และ คาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล เป็นผู้ช่วย แสดงที่โรงละครกลางแจ้ง Ernst Theatre ในมหาวิทยาลัย และนำกลับมาแสดงอีกครั้งโดยสมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร กำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ  เพื่อร่วมแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว และกลับมาแสดงอีกครั้งในงาน “ให้”ปลูกดนตรีในสวนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่สวนลุมพินี
 
“ปีศาจ” เป็นนิยายชิ้นสำคัญของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามแฝงของ คุณศักดิ์ชัย บำรุงพงษ์) เรื่องนี้พิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสยามสมัย ระหว่างปี 2496-7 ซึ่งเป็นยุคภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไทย มีความตื่นตัว ทางความคิด ความอ่าน เกี่ยวกับการเมือง และสังคม ค่อนข้างมาก
 


ปีศาจเป็นงานที่แสดงถึงจุดมุ่งหมายและความคิดที่เด่นชัดมากที่สุดสำหรับเมืองไทย ในยุคนั้น หรือแม้แต่ในยุค 14 ตุลาคม 2516 คนอย่าง สาย สีมา รัชนี ผู้รักความเป็นธรรม และเห็นใจคนยากคนจน อาจจะดู เป็นคนในอุดมคติ สำหรับสังคมไทย ในปัจจุบันมากเกินไป แต่เขาเหล่านั้น ก็เป็นเสมือนตัวแทน ของคนรุ่นใหม่ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เริ่มปฏิเสธค่านิยมเก่าๆ ของสังคมโบร่ำโบราณ ซึ่งไม่เคย มีการเปลี่ยนแปลง ขนาดใหญ่เลย ตลอดระยะเวลา หลายร้อยปีที่ผ่านมา สังคมอภิสิทธิชน ซึ่งพร้อมที่จะ ดูดกลืนคนอยู่เสมอ เพราะความเจ้าเล่ห์ ซึ่งเติบโตขึ้น ตามอายุขัย และขนาดของมัน ในแง่ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ปีศาจ ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างขึ้นมา ก็เป็นตัวแทน การเริ่มต้น ที่จะประท้วง โดยคนรุ่นใหม่ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลับมาจับใจ คนรุ่นใหม่ ช่วงปี 2516-2519 อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นยุคสมัย ที่คนหนุ่มสาว กำลังตื่นตัว ที่จะแสวงหา สังคมอุดมคติ คล้ายๆ กัน ปีศาจอย่าง สาย สีมา ตัวที่กาลเวลา ได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอน คนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิด ความละเมอ หวาดกลัว… อาจจะเป็นเพียงนักฝัน นักอุดมคติในยุคหนึ่ง แต่เขาได้สร้าง แรงบันดาลใจ ให้คนจำนวนไม่น้อย ได้ลงมือใช้ชีวิต ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจริงๆ ทั้งในป่าเขา ในชนบท ในโรงงาน ในวงการศึกษา สื่อสารมวลชน และอื่นๆ (อ้างอิงมาจาก สนพ.มติชน)
 
          "ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความก้าวหน้าของ กาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน"
 
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระจันทร์เสี้ยวการละครจะหยิบเอา “ปีศาจ” ขึ้นแสดงบนเวที หลังจากได้ทำการแสดงมาหลายครั้งหลายหนในละครเรื่อง “คือผู้อภิวัฒน์” แม้จะเป็นตอนสั้นๆในฉากงานเลี้ยงแต่เป็นตอนที่มีความเข้มข้นสูง มีบทพูดคมคายที่สะท้อนว่าปีศาจนั้นยังคงอยู่เหนือกาลเวลา
 

คอนเสริ์ต “คำขานรับ”

 
 
“คำขานรับ” มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ “ฉันรักประชาชน”
6 ละครเวที 9 คนดนตรี 3 พจนาลัย 5 กวีซีไรต์
วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2551
เวลา 17.00 น.
ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบรางวัล “ฉันรักประชาชน”
 

คอนเสริ์ตจากใจสู่ใจ แด่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

 
ศิลปินดนตรี ละครเวที คีตกวี และนักกิจกรรมเพื่อสังคม จึงได้รวมตัวกันจัดคอนเสริ์ตจากใจสู่ใจแด่มด วนิดา ผสมผสานการแสดงดนตรี บทกวี ละครเวทีและปาฐกถา เป็นดั่ง “คำขานรับ” สานต่ออุดมคติ “ฉันรักประชาชน” ของ “มด” ต่อไป
9 คนดนตรี
หงา-หว่อง คาราวาน, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, กรรมาชน, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, โฮปแฟมมิลี่, คีตาญชลี, คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู
6 ละครเวที
พระจันทร์เสี้ยวการละคร, มะขามป้อม, บีฟลอร์, แปดคูณแปด
5 กวีซีไรต์
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศิริวร แก้วกาญจน์
3 พจนาลัย
นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์, รสนา โตสิตระกูล, สมัชชาคนจน
 
อาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2551  เวลา 17.00 น.
หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
บัตรราคา 300, 500, 700 และ 1,000 บาท
ซื้อได้ที่ ร้านน้อง ท่าพระจันทร์, โรบินสัน บางรัก-สุขุมวิท-รัชดาฯ หรือกลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9
 
รายได้มอบให้ “กองทุนวนิดาฯเพื่อคนจน”
จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดมรวมใจ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โครงการกำแพงประวัติศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
 
 

Seoul Fringe 2008

 
Soeul Fringe 2008
14-31 สิงหาคม 2551 ที่โซล เกาหลีใต้
 
 
 
เพิ่งกลับมาจากโซล ได้มีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลละคร Soeul Fringe ที่โซลมาหกวัน ครั้งนี้เขาจัดมาเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ปีนี้เริ่มตั้งแต่ 14 – 31 สิงหาคม ในงานก็จะมีทั้งละครเอ้าท์ดอร์ และอินดอร์ คือ เล่นที่ถนน ก็จะแบ่งพื้นที่เป็น 4 เวที และในโรงละครอีก 4 โรงละคร ซึ่งเป็นโรงละครขนาดประมาณ 100 ที่นั่ง คนดูก็เกือบเต็มทุกรอบ อันนี้สังเกตุจากรอบที่ได้มีโอกาสไปดู
 
ในงานก็จะมีทั้งละคร ด๊านซ์ ดนตรี และศิลปะ แสดงทุกวัน เริ่มตั้งแต่เวลาเย็นๆไปจนถึงสักสามทุ่ม ในแต่ละปีจะมีการแสดงเกือบ 300 ชุด นอกนั้นก็มีเลคเชอร์ จัดที่ตึกแสดงงานศิลปะชื่อ Sangsangmadang และ อาร์ติสทอล์ค ซึ่งเขาจะจัดที่ Fringe Club
มีโอกาสไปดูละคร และ ด๊านซ์ ประมาณ 10 ชุด และดนตรีอีก 2 ชุด ดนตรีชุดแรกเป็นวงเครื่องเป่าจาก Art University  ส่วนอีกวงเป็นแทรดิชั่นผสมคอนเทม ชื่อวงว่า Whool เล่นเปิดงาน วงนี้เจ๋งดี วันหลังๆไม่มีเวลาได้วิ่งดูอะไรเท่าไหร่ เพราะต้องประชุม ไปดูโรงละครที่ถนนแดฮังโรที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนสายละครเวที และต้องพบปะกับใครหลายคน 
 
ปีนี้มีโปรดักชั่นจากต่างประเทศมาร่วมด้วย อาทิตย์แรกนี้มีสองโปรคือ จาก Fan Troup จากปักกิ่ง และ Mime Lab จากฮ่องกง ก็ได้เห็นบรรยากาศของศิลปิน และคนดู ก็อบอุ่นดี มีบรรยากาศคล้ายๆเทศกาลละครกรุงเทพหลายๆอย่าง (แต่เวทีในสวนของบ้านเรามีคนดูมากกว่าบ้านเค้า เทศกาลละครกรุงเทพของเราคนดูนั้นมีส่วนร่วมมาก) รวมทั้งฝนตกแล้วทีมงานต้องย้ายของ ขนของหลบฝนกันด้วย
 
การเริ่มต้นเกิดเทศกาลนี้ก็คล้ายกับเทศกาลของบ้านเราเหมือนกัน คือ กลุ่มละครเล็กๆรวมทั้งวงดนตรีอินดี้ที่ไม่มีที่ทางจะได้สดงตัวและแสดงผลงาน เทศกาลนี้จึงเกิดขึ้นจากแรงและการร่วมมือของคนรักละครและศิลปิน จนถึงปีนี้เข้าปีที่ 11 แล้ว ด้วยสโลแกนที่ว่า "Fostering the Soil for Independent Art"
 
 
  

งง ลงเรียนวิชาละครแล้วทำไมไม่ทำละคร

 
 
งง เรื่องมีอยู่ว่า
มีน้องๆนักศึกษามาลงเรียนวิชาละครวิชาหนึ่งที่สถาบันแห่งหนึ่งมากถึง 80 คน แต่ทั้งห้องโหวตว่าจะไม่ทำละครตอนท้ายเทอม
แปลกแต่จริง
เอ้า แล้วพวกเขามาลงเรียนละครกันทำไม?
นั่นล่ะ ถึง งง
เป็นคำถามที่อยากรู้คำตอบ
ตอนสมัยเราเป็นนักศึกษา จะหาละครเวทีดูก็หายากมีไม่มากเลท่าตอนนี้ ปีหนึ่งจะมีละครแค่ไม่กี่เรื่อง ฉะนั้นต้องไม่พลาด ไม่งั้นพลาดแล้วพลาดเลย อยากเรียนละคร ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ที่จะให้เรียนก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้ หายากอีกเหมือนกัน และยิ่งโอกาสจะได้ทำละครเองนั้นก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

 
อันนี้ก็เลยงงว่า ถ้ามีโอกาสแล้ว ทำไมไม่ทำ เป็นเพราะเหตุใดกันหนอ